จินเทค ผู้นำอุตสาหกรรมผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อันดับ 5 ของโลก เดินเครื่องเพิ่มกำลังผลิต ชูมาตรฐาน ISO 9001:2015 การันตีสินค้าคุณภาพส่งกลุ่มลูกค้าตลาดในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องด้านกระทรวงพลังงานวางหมากปี 2563 เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ลงไปสู่ภาคเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ
บริษัท จินเทค (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตแผงโซล่าเซลล์ในประเทศไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งผลการดำเนินงานเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อันดับ 1 ของไต้หวัน และติดอันดับ 5 ของโลก และได้ขยายธุรกิจ ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ด้วยการขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี โดยสินค้าของบริษัทฯแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ เซลล์ , แผงโมดูลโซล่าเซลล์ และติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยังได้มาตรฐานมากมายระดับโลก บริษัทฯมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รักษามาตรฐานสินค้า และการบริการลูกค้าทุกระดับประทับใจ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสินค้าของบริษัทฯสามารถนำประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับผลงานคุณภาพบริษัทฯให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องระบบบริหารจัดการองค์กร ล่าสุดบริษัทฯได้ทำการปรับระบบมาตรฐาน ISO 9001:2008 เข้าสู่ระบบ ISO 9001:2015 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับเป็นผลดีต่อองค์กรอย่างมาก
ส่วนประโยชน์ของมาตรฐาน ISO ในส่วนชององค์กร/บริษัท การจัดองค์กร การบริหารงาน การผลิตตลอดจนการให้บริการมีระบบ มีประสิทธิภาพ และเป็นที่พึงพอใจของลูกค้าหรือผู้รับบริการและได้รับการยอมรับก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ส่วนพนักงานภายในองค์กร/บริษัทมีการทำงานเป็นระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานพนักงานมีจิตสำนึกในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น และมีวินัยในการทำงาน พัฒนาการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่มมีการประสานงานที่ดี และสามารถพัฒนาตนเองตลอดจน เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน และในส่วนของผู้ซื้อ/ผู้บริโภค จะมั่นใจในผลิตภัณฑ์และบริการ ว่ามีคุณภาพตามที่ต้องการ ทั้งสะดวกประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องตรวจสอบคุณภาพซ้ำได้รับการคุ้มครองด้านคุณภาพความปลอดภัยและการใช้งานเป็นสำคัญ
นโยบายพลังงานสู่การปฎิบัติปี 2563
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง “การสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563” ว่า ในปี 2563 ถือเป็นปีที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะลำบาก จากผลพวกเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีนัก ดังนั้น พลังงานถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพ และช่วยสร้างรายได้ในระดับชุมชน ปี 2563 จะเร่งการขับเคลื่อนนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ลงไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายระยะสั้นที่จะเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 1,000 เมกะวัตต์ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดโครงการฯเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติในวันที่ 16 ธันวาคม2562 นี้ รวมทั้งคาดว่าปี พ.ศ.2563 จะมีเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟสแรก 7-8 หมื่นล้านบาท โดยหลักการจัดตั้งโรงไฟฟ้าจะพิจารณาผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับเป็นหลัก เช่น เกิดการใช้วัตถุดิบในพื้นที่และต้องยกระดับรายได้ของชุมชน ซึ่งหากพบว่า ดำเนินการไปแล้วเอกชนรายใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือ เบี้ยวชุมชน จะยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าทันที, ด้านการเข้าถึงไฟฟ้าตั้งเป้าหมายทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องจะมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ปลายสายส่งไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มีประมาณ 40 จังหวัด กว่า 500 หมู่บ้าน และมีพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยอีกจำนวนมาก โดยเบื้องต้นจะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและกลุ่มที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น เป็นพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการพื้นที่ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายได้ก่อน พร้อมกำหนดแผนดำเนินการให้เสร็จภายใน 3-5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านกองทุนอนุรักษ์และพัฒนาพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
ต่อมาจะเป็นการเร่งผลักดันสถานีพลังงานชุมชนเพื่อจัดทำสถานีพลังงานชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศซึ่งจะใช้โมเดลพัฒนาชุมชนของ จ.กาญจนบุรี เป็นแนวทางทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจรที่นำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่อยอดอาชีพของชุมชน โดยจะพิจารณานำเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เข้ามาสนับสนุนเบื้องต้น ทั้งนี้นโยบายพลังงานชุมชน จะมีทั้งส่วนที่ใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เข้าไปสนับสนุน หรือ อาจดึงภาคเอกชน เข้าร่วมจัดทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) โดยขณะนี้เตรียมความพร้อมรายละเอียดโครงการเพื่อนำเข้าสู่การพิจาณาของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ หลังจากมีผู้ยื่นเสนอคำขอกว่า 100 โครงการแล้ว คาดว่าจะทยอยอนุมัติจัดสรรงบประมาณปี 2563 ที่มีอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ได้ในช่วงประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค.2563
“ในส่วนของการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ที่กำหนดเป้าหมายอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยระยะ 20 ปี อยู่ที่ 3.58 บาทต่อหน่วย ควรจะต้องปรับให้คำนึงถึงต้นทุนการแข่งขันของประเทศด้วย โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีค่าไฟฟ้าถูกกว่าประเทศไทย และการขับเคลื่อนพลังงานต้องมองในเรื่องของความมั่นคงระยะยาวแม้ว่าพลังงานทดแทนจะมีศักยภาพมากขึ้นแต่ยังคงมีราคาที่สูงและยังไม่มั่นคงดังนั้นต้องใช้โอกาสทางยุทธศาสตร์ของไทยในการก้าวสู่ฮับภูมิภาค (Hub) ทั้งการซื้อขายไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และรวมถึงการเจรจาเพื่อการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่มีความมุ่งมั่นจะเกิดขึ้นในปี 2563” รมว.พลังงาน กล่าว