ธนาคารแห่ประเทศไทย (ธปท.)เข้ารับรางวัล ธนาคารกลางที่มีผลงานโดดเด่น ประจำปี 2563 ด้านการริเริ่มผลักดันโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน (Initiative of the Year Award)
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับรางวัลธนาคารกลางที่มีผลงานโดดเด่น ประจำปี 2563 ด้านการริเริ่มผลักดันโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน
รางวัลดังกล่าว ตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของวารสารการธนาคารกลาง หรือ Central Banking ที่ได้ดำเนินงานนานกว่า 3 ทศวรรษ คณะกรรมการ ชื่นชมการดำเนินงานของ ธปท ที่มุ่งสร้างความมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องใน 3 ด้าน คือ 1.การเปิดใจรับฟังผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจัง 2.การสื่อสารแบบ 2 ทาง อย่างโปร่งใสและทันกาล และ3.การร่วมมือกับภาคเอกชนในเรื่องที่ไม่เพียงจะดีต่อธุรกิจ แต่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อสังคม
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อประชาชน อย่างน้อย 3 โครงการ ให้เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นในช่วงที่ผ่านมา
โครงการแรก คือ โครงการที่เกี่ยวกับธนบัตร ได้แก่ การออกใช้ธนบัตรแบบ 17 และออกใช้ธนบัตรที่ระลึกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการสังเกตธนบัตรปลอมแก่ประชาชน ผ่าน Application
การเปลี่ยนพื้นที่ของโรงพิมพ์ธนบัตรที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่หวงห้ามมาเป็นพื้นที่สาธารณะในวาระครบรอบ 75 ปี ของ ธปท. เรียกว่าศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ซึ่งเปิดกว้างให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดด้านเศรษฐกิจ พิพิธภัณฑ์เงินตรา หรือนิทรรศการศิลปะระดับโลก ซึ่งอาคารที่เปิดกว้างต่อสาธารณชนเช่นนี้ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงธนาคารกลางได้มากขึ้น
โครงการที่ 2 คือ พร้อมเพย์ ระบบการชำระเงินรายย่อยที่มีค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยังผลให้ประชาชนรายย่อยสามารถโอนเงินได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สุดท้ายโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อแก้หนี้เสียบัตรเครดิตที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติการเจรจาประนอมหนี้ยากที่จะสำเร็จ ปัจจุบันมีสถาบันการเงินเข้าเป็นสมาชิกถึง 35 แห่ง ทำให้โครงการนี้เป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหาหนี้ที่ครบวงจรเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
“ธปท. ขอขอบคุณประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันโครงการสำคัญและยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในลักษณะที่เรียกว่าธุรกิจก็ชนะ สังคมก็วัฒนา” นางจันทวรรณ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน การเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อของธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ธปท.มองว่าในระยะ 3–5 ปีข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อม VUCA ที่ทวีความเร็วและแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจเรียกสภาพแวดล้อมดังกล่าวว่า VUCA+โดยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบธุรกิจ บริการทางการเงิน และระบบเศรษฐกิจ เป็นตัวเร่งสำคัญ นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจสังคมไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการสะสมปัญหาเชิงโครงสร้างและความเปราะบางของสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มากขึ้น
ธปท. ตระหนักว่าภายใต้สภาพแวดล้อม VUCA+ ข้างต้นนั้น โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงกว่าที่เคยเป็นมา จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี 2563 – ปี2565) ภายใต้หัวข้อ ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง หรือ Central Bank in a Transformative World เพื่อกำหนดแนวทางการทำหน้าที่ของ ธปท. ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความทนทานสามารถรับมือกับความเสี่ยงพร้อมกับสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ กระจายประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง และยั่งยืน
สู่ 78 ปี อย่างมั่งคง
ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2485 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปี 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยมีหน้าที่หลักในการดูแลกำกับเรื่องการเงินของชาติ ทั้งออกกฎเกณฑ์และควบคุมสถาบันการเงิน นำออกหมุนเวียนซึ่งธนบัตรไทยรวมถึงการควบคุมการถ่ายโอนเงินตราระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินตราอื่น