นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. เผยว่า หน้าที่หลัก อภ. คือ สร้างความมั่นคงทางด้านยาและผลิตยาให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลในประเทศ ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายใหม่ คือ การเดินหน้าขยายตลาดยาวัคซีนไปตลาดต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่ประกอบด้วย เวียดนาม ลาว กันพูชาและเมียนมา เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตให้แก่องค์การเภสัชอีกแรง
ล่าสุดอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันโครงการต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์แห่งใหม่ที่รังสิต ภายในพื้นที่เดียวกับโรงงานผลิตยารังสิต เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ ชุดทดสอบ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ วัตถุดิบทางยา ซึ่งจะสร้างเสร็จในเดือนธันวาคมนี้
ส่วนของโรงงานผลิตวัคซีนที่ทับกวาง จังหวัดสระบุรี โปรเจ็กต์เดิมตั้งแต่เมื่อ10 ปีที่แล้ว คาดว่าจะเดินหน้าผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ในเชิงอุตสาหกรรมได้ในปี 2562 ถือเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาประเทศด้วยไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพึ่งตนเอง สร้างความมั่นคงของชาติ โดยจะมีวัคซีนที่จำเป็นใช้อย่างเพียงพอ ทั้งในภาวะปกติและเมื่อเกิดโรคระบาดและได้เตรียมวางแผนขยายตลาดไว้แล้วบางส่วน เน้นการหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้โรงงานดังกล่าวสามารถมีรายได้สำหรับเลี้ยงตัวเองได้
นอกจากนี้ยังได้พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ให้มีคุณสมบัติเป็นยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงตามนโยบายสมุนไพรของรัฐบาล และยาตำรับสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมทั้งมุ่งแสวงหาพันธมิตรในการร่วมผลิต จัดหาและเป็นแหล่งผลิตสำรองในกรณีฉุกเฉิน ตลอดจนแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น
ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต เฟส 2 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี โดยโรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตยาได้เพิ่มอีกกว่า 100 รายการ หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 6,000 ล้านเม็ดต่อแคปซูลต่อปีจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตประมาณ 1,700 ล้านเม็ดต่อแคปซูลต่อปี ซึ่งจะสามารถผลิตยาได้ครอบคลุมการรักษาโรคได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่โรงงานที่รังสิตมีความสามารถในการผลิตยาความดัน ยาเบาหวาน ยาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นยาที่รองรับการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันก็จะทำให้ อภ. สามารถเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น เช่น เมียนมา ที่มีความต้องการยารักษาโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น และจากนี้ไป อภ.จะเดินหน้ารุกตลาดนี้มากขึ้น ด้วยการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐบาลที่ทำหน้าที่ในการดูแลด้านยาของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายของแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การขยายสัดส่วนการส่งออกยาไปต่างประเทศเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันที่ส่งออกประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์