พลอากาศเอก ดร.นพพร จันทวานิช ประธานกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) เปิดเผยว่า บริษัทฯเกิดจากการร่วมทุน 3 ฝ่าย ประกอบด้วยบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นฝ่ายละ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการร่วมทุนในครั้งนี้มูลค่าโครงการ 5,500 ล้านบาทเป็น โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบโคเจนเนอเรชั่น ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี โครงการระยะที่หนึ่ง มีกำลังการผลิต 125 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ 90 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปี โดยไฟฟ้าและไอน้ำส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร
“โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กนี้ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ อันสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการป้องกันผลกระทบต่อแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง รวมทั้งเพิ่มประโยชน์จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในลักษณะโคเจนเนอเรชั่น เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและนำความร้อนที่เกิดขึ้นไปผลิตไอน้ำในขณะเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในระบบการผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวและแสดงถึงความมั่นคงแข็งแกร่งของบริษัทฯ เพราะเป็นการผนึกความเชี่ยวชาญของทั้งสามฝ่ายมาร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่นให้กับโครงการ รวมทั้งฐานลูกค้าโรงงงานอุตสาหกรรมด้วย”
พลอากาศเอก ดร.นพพร จันทวานิช กล่าวถึงโครงการผลิตไฟฟ้า นวนครส่วนขยายระยะที่สอง ว่า บริษัทฯเดินหน้าก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้า นวนครส่วนขยาย กำลังผลิตติดตั้ง 60 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง มูลค่าโครงการประมาณ 3,105 ล้านบาท โดยกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมของโครงการผลิตไฟฟ้า นวนคร เพิ่มขึ้นเป็น 185 เมกะวัตต์ และไอน้ำ ประมาณ 40 ตันต่อชั่วโมง
“ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลจากความแข็งแกร่งของพันธมิตรธุรกิจทั้ง 3 รายที่ร่วมมือกันพัฒนาโครงการส่วนขยายก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนมาถึงขั้นตอนของการก่อสร้างโครงการ สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากส่วนขยาย 60 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง จะจำหน่ายตรงให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จำนวน 3 ราย ทั้งนี้ บริษัทฯ ประมาณการรายได้จากส่วนขยายปีละประมาณ 1,300 ล้านบาท” สำหรับ เงินลงทุนในการพัฒนาและก่อสร้างโครงการส่วนขยายมาจากการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ โดยบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ชนิดทยอยชำระคืนเงินต้น ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่ารวม 6,400 ล้านบาท จำนวน 4 รุ่น โดยแบ่งเป็น หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.68 หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.00 หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.85 และหุ้นกู้อายุ 16 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.22 ให้กับนักลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “A-” แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้นอกจากนำมาใช้ในการขยายกำลังการผลิตแล้ว ยังจะนำไปชำระเงินกู้เดิมต่อไป