นายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร.เปิดเผยถึงความคืบหน้าสร้างอุทยานดาราสตร์กับทางนิตยสารอินดีสตรี้บิสนิว ว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ได้รับการอนุมัติงบประมาณสร้างอุทยานดาราศาสตร์มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท บนเนื้อที่ 54 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลดอนแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
“การก่อสร้างเป็นแบ่ง 2 เฟส ในเฟสที่1 เป็นการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ ประกอบด้วย สำนักผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยดาราสตร์ ห้องปฎิบัติการขั้นสูง และอาคารหอดูดาวซึ่งที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7- 1 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง จำนวน 4-6 กล้องสำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ซึ่งระยะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในระยะที่ 1 นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2560”
ขณะที่เฟส 2 เป็นอาคารท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่สามารถรองรับบรรจุผู้เข้าชมได้ถึง 200 ที่นั่ง มีเครื่องฉายภาพรอบทิศ 360 องศา ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ นอกจากนี้ภายในยังมีห้องปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ จัดประชุม อบรม สัมมนา และกิจกรรมบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง ใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ในระยะนี้คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2561
นายบุญรักษา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า อุทยานดาราศาสตร์ มีเป้าหมายสำคัญที่จะให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับหอดูดาวเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ภูมิภาคทั้ง 5 แห่ง รวมถึงหอดูดาวทางไกลอัตโนมัติของสถาบันฯ ที่ตั้งอยู่ที่ Cerro Tololo International Observatory สาธารณรัฐชิลี และในอนาคตที่มณฑลลี่เจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน
อุทยานดาศาสตร์แห่งนี้นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านดาราศาสตร์อย่างสูงสุด มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมดาราศาสตร์ที่ทันสมัยล้ำหน้าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ และองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จึงพิจารณาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรทางดาราศาสตร์ของอาเซียนให้มีองค์ความรู้ขั้นสูง อีกทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิทยาการดาราศาสตร์ระหว่างประชาคมอาเซียนอีกด้วย