กรมทรัพยากรน้ำ วาดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ รองรับความต้องการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือน ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำมีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารโครงการแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ จัดสรร กำกับ ควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำและประปาสัมปทาน การอนุรักษ์ดูแล แก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรน้ำ การแจ้งเตือนภัยและการจัดการสภาวะวิกฤต รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านทรัพยากรน้ำทั้งระดับภาพรวมและระดับลุ่มน้ำ เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพและยั่งยืน โดยได้วางกรอบการดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกันในทุกมิติให้สามารถรองรับกับความต้องการอุปโภคบริโภคในภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการพัฒนากลไกและเครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อจัดหาน้ำต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บและการระบายน้ำ ตลอดจนการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากในประเทศไทย การอนุรักษ์แหล่งน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยสามารถลดผลกระทบด้านลบต่อมนุษย์และระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืนได้
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ประกอบด้วยแผนแม่บท 6 ด้าน ได้แก่
- การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค
- การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต
- การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย
- การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
- การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน
- การบริหารจัดการ
“เรื่องของการบริหารจัดการนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ประเทศเรามีปริมาณน้ำฝนอย่างเหลือเฟือประมาณ 7 แสน ลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เราเก็บไว้ใช้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งหมายความถึง ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดี เราจะสามารถดูแลแผนแม่บททั้ง 6 ด้านที่กล่าวมาข้างต้นได้ทั้งหมด ซึ่งในเรื่องนี้เราต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัจจุบันจากทั่วโลกที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายเราที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาปรับใช้กับประเทศของเรา ซึ่งก็เป็นจุดที่ทางกรมทรัพยากรน้ำสนใจอยู่แล้ว เช่น ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เราก็มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านน้ำและสถาบันการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ในการบริหารจัดการเราก็สามารถถอดบทเรียนของต่างประเทศมาใช้กับบ้านเราได้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ประชาชนกินดีอยู่ดี โดยการมีรายรับ รายได้จากการบริหารน้ำมากขึ้น” นายภาดล กล่าว