นายสมเกียรติ มรรคายาธร เลขาธิการสมาคมอธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้ส่งออกไทยโตสวนทางคู่แข่งเนื่องจาก ราคาส่งออกที่ปรับตัวลดลงไปอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะข้าวขาวเฉลี่ยที่ 445 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงจากปี 2558 ที่เฉลี่ย 471 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาข้าวขาวของเวียดนามแล้วไม่ต่างกันมากหนัก ทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
“แต่เหตุที่ภาพรวมที่ยอดส่งออกข้าวขาว 4.91 ล้านตัน ลดลง 3.8 เปอร์เซ็นต์ ข้าวนึ่ง 2.14 ล้านตัน ลดลง 7.5 เปอร์เซ็นต์เพราะตลาดตะวันออกกลาง และเอเชียซึ่งเป็นตลาดหลักของข้าวกลุ่มนี้มีปัญหากำลังซื้อ และคำสั่งซื้อข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาลลดลง”
ทั้งนี้ สมาคมคาดการณ์ข้าวโลกในปี 2560 มีผลผลิต 480 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.6 เปอร์เซ็นต์ การบริโภค 477 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.5เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การค้าข้าวโลกมีปริมาณ 40.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.7เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้มีสต๊อกคงเหลือจำนวนมาก 118 ล้านตัน เพิ่ม 1.9เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน แต่เป็นปริมาณสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยคาดการณ์ว่า อินเดียจะยังครองอันดับหนึ่งมีปริมาณ 10 ล้านตัน รองลงมาคือ ไทย 9.7 ล้านตัน เวียดนาม 5.8 ล้านตัน และปากีสถาน 4.2 ล้านตัน
ด้านนายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมกล่าวว่า ข้าวหอมมะลิส่งออกได้มากขึ้น 2.36 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากราคาที่ลดลง และจุดแข็งที่ผู้บริโภคชอบข้าวหอมไทย ทั้งนี้ ปี 2560 ข้าวหอมจะเพิ่มขึ้น ถ้าราคายังคงเป็นแบบนี้ และด้วยมาตรฐานใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศจะช่วยให้มีข้าวหอมเกรดรองไปแข่งขันกับเวียดนามและกัมพูชาได้ แนวโน้มราคาข้าวหอมน่าจะปรับเหลือตันละ 700 จากปีก่อนที่ 800 เหรียญสหรัฐ
นายโชค เศรษฐีวรรณ อุปนายกสมาคมกล่าวว่า ปี 2560 ไทยจะส่งข้าวขาวได้ 4.6 ล้านตัน จากปี 2559 ที่ส่งออกได้ 4.9 ล้านตัน ปัจจัยสำคัญสถานการณ์การแข่งขันกับเวียดนามเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด ต้องจับตาผลผลิตนาปีเวียดนามที่จะออกเดือนมีนาคม 12 ล้านตัน ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายการระบายสต๊อกข้าวอินเดีย
ข้าวขาวใหม่ส่วนใหญ่จะส่งออกไปตลาดเอเชีย ส่วนตลาดแอฟริกาจะนำเข้าข้าวเก่าเป็นหลักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปีที่ผ่านมาจะเห็นยอดนำเข้ามาเลเซียเพิ่มขึ้นเป็น 3.81 แสนตัน เพราะราคาไทยต่ำ แต่ถ้าปีใดราคาไทยแพงจะหันไปซื้อเวียดนาม