นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือบสย.เปิดเผยว่า ในปี 2559 นี้ บสย.ประมาณการว่าจะมีภาระต้องจ่ายชดเชยความเสียหายจากการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีในโครงการต่าง ๆ ให้กับธนาคาร 18 แห่งที่ร่วมโครงการ จำนวนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการชดเชยไป 8,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน บสย.ต้องจ่ายชดเชยเฉลี่ยเดือนละ 900 ล้านบาท ส่วนการจ่ายชดเชยที่เพิ่มขึ้นยังถือว่าเป็นภาวะปกติ เนื่องจากพอร์ตค้ำประกันของบสย.ขยายตัวขึ้น
“ตอนนี้ยอดค้ำเราเพิ่มขึ้นก็ทำให้หนี้เสียมาก ซึ่งพอร์ตค้ำประกันคงค้างอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท จากปีที่ผ่านมาประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท อัตราเร่งก็เลยเพิ่มขึ้น เพราะแบงก์มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นก็ส่งมาให้เราซึ่งแบงก์จะตัดยอดทุก 3 เดือน โดยยอดกว่า 1 หมื่นล้านบาทจะมาจากทุกแบงก์ที่ร่วมโครงการกับ บสย.ซึ่งแบงก์ก็จะส่งเรื่องแจ้งเคลมเข้ามาที่ บสย. หลังจากนั้นเราก็จ่ายตามกระบวนการของเรา”
สำหรับเงินจ่ายชดเชยให้แก่แบงค์นั้น ทาง บสย.จะใช้เงินค่าธรรมเนียมที่มีการเรียกเก็บในแต่ละโครงการ รวมกับงบประมาณที่รัฐบาลช่วยจ่ายชดเชยอีกส่วนหนึ่ง โดยจะมีการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกปีอย่างปีงบประมาณ 2560 ที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติทางบสย.จะขอตั้งไปกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดในขั้นกรรมาธิการถูกตัดเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งยังต้องรอข้อสรุปในขั้นสนช.ต่อไป
นายนิธิศเปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของ บสย.ในรอบ 6 เดือน ปี 2559 ได้อนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อรวมกว่า 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี2558 ส่วนภาระค้ำประกันของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้น มิ.ย. 2559 อยู่ที่ 10.06 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้น 1-2 เปอร์เซ็นต์ จาก ณ สิ้นปี 2558 ที่อยู่8เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPG ตอนนี้ 10.06 เปอร์เซ็นต์ก็ตกประมาณ 33,000 ล้านบาท แต่ต้องบอกว่า NPG ไม่ใช่หนี้สูญ แต่เป็นการตั้งสงสัยตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งการเพิ่มขึ้นก็เนื่องจากแนวโน้มNPLของแบงค์เพิ่มขึ้นเราก็ต้องตั้งเพิ่มเป็นเงาตามตัวแต่ก็ถือว่าไม่ได้มากผิดปกติและNPGไม่น่าจะเพิ่มขึ้นไปกว่านี้อีกนายนิธิศกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บสย.มียอดจำนวนเงินจ่ายค่าประกันชดเชยที่ได้จ่ายให้กับธนาคารแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ บสย.ค้ำประกัน เป็นยอดประมาณการสะสมอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนลูกหนี้ประมาณ 10,000 ราย หรือเฉลี่ยค้ำประกันให้รายละ 2 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่จัดตั้ง บสย.ถึงปัจจุบัน ขณะที่ บสย.เป็นผู้ติดตามหนี้ ซึ่งได้ให้นโยบายสาขาไปเร่งรัดติดตามหนี้ ส่วนระยะข้างหน้า บสย.มีแผนจะว่าจ้างสำนักงานทนายความจากภายนอก และว่าจ้างแบงค์เจ้าหนี้เก่าให้ช่วยติดตามหนี้ต่อด้วยเนื่องจากจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า