เชฟรอนควัก 34.8 ล้านบาท นำร่องโครงการสร้างปะการังเทียมจากแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล ณ เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุ่มผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า การลงนามในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย มาใช้เป็นปะการังเทียม เนื่องด้วยลักษณะโครงสร้างที่ซับซ้อนทำจากเหล็กกล้าที่จัดสร้างเพื่อใช้งานในทะเล มีน้ำหนักประมาณ 300 – 700 ตัน จึงมีความมั่นคงแข็งแรง ที่สำคัญไม่มีส่วนใดสัมผัสปิโตรเลียมมาก่อน มีพื้นที่ลงเกาะสำหรับสิ่งมีชีวิต จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิต

“โดยดำเนินการในพื้นที่เกาะพะงัน ซึ่งเคยมีโครงการต้นแบบในการวางโครงสร้างเหล็ก ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน มาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2556 ซึ่งพบว่าความเหมาะสมของในการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆรวมทั้งการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวและการประมงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่จัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมของโครงการนำร่องในระยะแรกนี้มีพื้นที่ประมาณ 0.07 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากเกาะพะงันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 8 ไมล์ทะเล และจากหินใบไปทางตะวันออกประมาณ 7 ไมล์ทะเล” นายไพโรจน์ กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ ในระยะแรกใช้เวลา 2 ปี จะเป็นการศึกษาทางด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา การติดตามผลกระทบจากการวางปะการังเทียม การประกาศพื้นที่คุ้มครองเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่คุ้มครองนี้

ส่วนระยะที่สอง ซึ่งใช้เวลา 4 ปี จะเป็นการติดตามต่อเนื่องจากระยะแรกเพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอยู่อาศัยในแนวปะการังและการเข้าใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย โดยบริษัทสนับสนุนเงินจำนวน 34.8 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการวางแผนและการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตเพื่อนำไปทำปะการังเทียม)

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการศึกษาจะช่วยให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน

นายไพโรจน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 56 ปี ของการดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับประเทศ บริษัทยังมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทยในทุกๆด้าน รวมถึงการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง