เปิดวิสัยทัศน์ “สมนึก รงค์ทอง” หัวเรือใหม่ บวท. สนง.ใหญ่รับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นฯสูงสุด 13 ปีซ้อน

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัดหรือ บวท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบด้านงานควบคุมจราจรทางอากาศในประเทศ

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินภาพรวมธุรกิจการบินและแนวโน้มปริมาณจราจรทางอากาศในอนาคตพบว่าธุรกิจการบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริษัท Airbus ได้คาดการณ์ไว้ว่าอีก 20  ปีข้างหน้า ปริมาณจราจรทางอากาศทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ4.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ทุก 15 ปี โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าทั้งภูมิภาคยุโรปที่มีอัตราการเติบโต 3.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และอเมริกาเหนือ3.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อันเป็นผลเนื่องมาจากการเปิดเสรีทางด้านการบิน ทำให้ปริมาณผู้โดยสารและการเชื่อมต่อการเดินทางเพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนสิงหาคม มีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 698,283เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 2,874 เที่ยวบิน และคาดว่าเดือนธันวาคมนี้จะมีปริมาณเที่ยวบินมากกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบปีที่ผ่าน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต บวท. จึงต้องมีความเตรียมพร้อมในด้านเทคโนโลยีด้านบุคลากรเพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นสามารถให้บริการและบริหารจัดการจราจรทางอากาศได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนศักยภาพ

สำหรับการให้บริการการเดินอากาศของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดกลยุทธ์ไว้ 4กลยุทธ์ ดังนี้

  1. การปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการการเดินอากาศโดยมีเป้าหมายให้มีศักยภาพเพียงพอในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ โดยปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางบินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่ห้วงอากาศ เช่น กำหนดให้เส้นทางการบินทั้งหมดเป็น One-way Route นอกจากนี้จะต้องประสานการใช้พื้นที่ห้วงอากาศร่วมกับหน่วยงานทางทหารเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ห้วงอากาศซึ่งจะส่งผลให้การใช้พื้นที่ห้วงอากาศมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งจะพัฒนาจัดระบบความคล่องตัวการจราจรทางอากาศโดยจัด Slot Time ที่เหมาะสมของแต่ละเที่ยวบินอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดการบินเข้าและออกจากสนามบินที่เหมาะสมจึงจะช่วยให้การทำการบินมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ท่าอากาศยานต้นทางไปจนถึงท่าอากาศยานปลายทาง
  2. 2. การเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรับการเติบโตอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายให้บุคลากรมีค่านิยมที่ดี มีศักยภาพสูง มีความผูกพันองค์กร และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเสมอโดยมุ่งเน้นการสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ตอบสนองภารกิจหลัก คือ มีระบียบวินัย ใส่ใจวิธีปฏิบัติ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และมีหลักการ ทั้งนี้เชื่อว่าบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุภารกิจขององค์กร ซึ่งบุคลากรนอกจากจะต้องมีความรู้และความสามารถแล้วยังต้องนำความรู้ความสามารถนั้นไปใช้เพื่อตอบสนองภารกิจขององค์กรอีกด้วย

3.การยกระดับการบริหารจัดการองค์กรมีเป้าหมายให้บริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูง โดยดำเนินการจัดการระบบการทำงานด้วยระบบมาตรฐานคุณภาพและประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ในการปรับปรุงศักยภาพในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร

และการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับผู้ใช้บริการ

4.การบริหารการเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารการจราจรทางอากาศมีเป้าหมายให้ได้รับการยอมรับจากองค์การด้านการบิน ทั้งนี้ ICAO มีแผนการพัฒนา/ปรับปรุงมาตรฐานระบบการบริการจราจรทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการเดินอากาศในอนาคตซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงต้องพัฒนาปรับปรุงศักยภาพด้านปฏิบัติการและด้านวิศวกรรมให้ได้ตามแผนการพัฒนาของ ICAO ทั้งแผนระดับภูมิภาคและแผนโลกรวมถึงแสวงหาพันธมิตรในการพัฒนาด้านบริการการเดินอากาศของภูมิภาค

เอเชียแปซิฟิก และภูมิภาคอาเซียน อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การเดินอากาศในภูมิภาคสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพตลอดเส้นทางบิน

ล่าสุด บวท.เข้ารับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับประเทศ และระดับจังหวัดประจำปี 2561 จัดโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานโดยวิทยุการบินฯ ได้รับรางวัลสถานประกอบการต้นแบบดีเด่นฯระดับประเทศดังนี้

– ได้รับรางวัลติดต่อกัน 13 ปี ได้แก่ วิทยุการบินฯ สำนักงานใหญ่ (ทุ่งมหาเมฆ) และศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลก

– ได้รับรางวัลติดต่อกัน 12 ปี ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมจราจรทางอากาศนครราชสีมา ศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่ และศูนย์ควบคุมการบินสุราษฎร์ธานี

– ได้รับรางวัลติดต่อกัน 11 ปี ได้แก่ ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ และศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานี

– ได้รับรางวัลติดต่อกัน 3 ปี ได้แก่ ศูนย์ควบคุมการบินอุดรธานี

– ได้รับรางวัลติดต่อกัน 2 ปี ได้แก่ ศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต