เปิดใจ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กับภารกิจสุดหินพลิกการบินไทยทำกำไรอีกครั้ง

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมม ทำหน้าที่ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ ในฐานะสายการบินแห่งชาติของประเทศไทย และเจ้าของรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2561

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งให้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ปี 2561ที่ผ่านมาถึง 31 สิงหาคม ปี2565

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย (มหาชน)  เปิดเผยถึงการเข้ารับตำแหน่งนี้ว่า ตนได้ตั้งเป้าให้การบินไทยเป็นสายการบินชั้นนำ1ใน5ของโลกภายในปี 2565 และจะเป็นสายการบินระดับพรีเมียม ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้นั้นไม่ยาก แต่มีสิ่งที่ต้องทำมากมายโดยเฉพาะการพลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้งเพื่อนำรายได้ไปต่อยอดความเป็นพรีเมียมของสายการบินแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการตั้ง ทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย การบินไทย ทอท. ธนาคารกรุงไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จะร่วมกันจับมือพลิกโฉมอนาคตธุรกิจการบินแห่งชาติให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การเข้ามารับตำแหน่งดีดีการบินไทยในครั้งนี้ภาระกิจหลักคือ การล้างการขาดทุนของการบินไทยให้หมดภายในปี 2565 และพยายามพลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้ง และเป้าหมายต่อไปคือการก้าวขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจการบินของเอเชียด้านการขนส่งผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อมบำรุง และศูนย์ขนส่งสินค้าภายในปี 2570 สอดคล้องกับผลงานมาสเตอร์พีซเดิมที่เคยทำไว้สมัยอยู่บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี สามารถพลิกฟื้นสถานะของ ธพส.จากขาดทุนให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย (มหาชน)  เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการทำงานในการพลิกฟื้นการบินไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างรายได้ยั่งยืน โดยการต่อยอดตลาดใหม่ ปรับเส้นทางการบินและสร้างพันธมิตรร่วมเพิ่มขึ้น 2.ภาพลักษณ์องค์กร 3.ประสบการณ์ผู้โดยสาร 4.ดิจิทัลเทคโนโลยี 5.บริหารทรัพยากรบุคคล

“ผมต้องการให้การบินไทยเพิ่มมาตรฐานงานบริการโดยเฉพาะการยิ้มที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ประจำองค์กร นอกจากนี้ยังต้องสร้างมาตรฐาน Beyond Expectation หรือการให้มากกว่าที่ลูกค้าขอ ทุกวันนี้การบินไทยต้องออกมาจาก Comfort Zone เพราะตลาดแข่งขันรุนแรง ถ้าบริหารต้นทุนไม่ได้อย่างไรก็ขาดทุน เราอยู่ที่เดิมไม่ได้ต้องเพิ่มเครื่องบินในฟลีต เพื่อช่วงชิงตลาด ซึ่งพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น สัดส่วนตลาดลดลงถึง 10เปอร์เซ็นต์จากเดิมครองอยู่ 37เปอร์เซ็นต์ หากยังไม่มีการซื้อเครื่องบินเพิ่ม จะทำให้ส่วนแบ่งของสายการบินแห่งชาติลดลงเหลือ 10เปอร์เซ็นต์และหายไปในที่สุด”

นายสุเมธ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศไม่กี่แห่งในโลกที่ดีมานด์วิ่งเข้ามาโดยไม่ต้องทำการตลาด ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขดังกล่าวยังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆจนเกินขีดความสามารถของสนามบิน ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. มีแผนจะพัฒนาสนามบินให้รองรับผู้โดยสารได้ 100-120 ล้านคน/ปี ดังนั้นการบินไทยจึงปล่อยเค้กก้อนใหญ่ชิ้นนี้ไปไม่ได้

ดังนั้นหลังจากนี้การบินไทยจะเร่งเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ให้มีสัดส่วน 15-20เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบัน 10เปอร์เซ็นต์ ควบคู่ไปกับรายได้เสริมให้มีสัดส่วน 5-20เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบัน 2.2เปอร์เซ็นต์ โดยมีแหล่งรายได้หลักจากธุรกิจครัวการบินและศูนย์ซ่อมอากาศยาน

“ศูนย์ซ่อมอากาศยานหรือ MRO ถือเป็นอนาคตใหม่ของบริษัท การบินไทย หลังจากนี้องค์กรจะเร่งเดินหน้าลงทุนพัฒนา MRO เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพัฒนา MRO รองรับเครื่องบินรุ่น 700 บริเวณสนามบินดอนเมือง ส่งผลให้ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 5 แห่งของโลกที่มีความพร้อมด้านงานซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยมาพร้อมกับเมืองการบินขนาดใหญ่ในพื้นที่อู่ตะเภา คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางของการบินภูมิภาคตามความฝันของรัฐบาล”นายสุเมธกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนธุรกิจทางการบินนั้นต้องเพิ่มปริมาณบรรทุกผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้นขณะที่การต่อยอดตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้องค์กรนั้น จะเริ่มจากการขยายตลาดครัวการบินไทย เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เดินทางออกไปกับผู้โดยสารเกือบทุกคน ปัจจุบันครัวการบินไทยมีรายได้ปีละ 8,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้จะขยายตัวจากปีก่อน5เปอร์เซ็นต์หรืออยู่ที่ราว 8,600 ล้านบาท และมีแผนลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 300 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดการบินในภูมิภาค จากเดิมมีกำลังผลิตราว 1,000 ชุด/วัน เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000-4,000 ชุด/วัน

ประวัติดีดีการบินไทยคนล่าสุด

เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ปี2561 หลังจากการบินไทยใช้เวลาสรรหาดีดีคนใหม่แทน นายจรัมพร โชติกเสถียร นานเกือบ 2 ปี

นายสุเมธเป็นหลานชายของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าร่วมงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน(ซีเอฟโอ)ของแกรมมี่จากก่อนหน้านี้ทำงานที่ บริษัท ทุนธนชาต ร่วม 10 ปี

เขาเป็นคนเข้าไปช่วยฟื้นฟูบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว เจ้าของช่อง Money Channel ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงที่แกรมมี่เข้าไปถือหุ้น ก่อนลาออกจากแกรมมี่ กรุ๊ป ไปแสวงหาเส้นทางของตัวเองอีกครั้งที่บริษัท น้ำมันพืชไทย (TVO) ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.)