ออมสินคว้า ครบรอบ 108ปี ธนาคารเพื่อสังคม เข้ารับ 5 รางวัลรัฐสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2563 จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายพชร อนันตศิลป์ ประธานกรรมการพร้อมด้วยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการนำทีมผู้บริหารธนาคารออมสินเข้ารับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2563ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดขึ้นภายใต้แนวคิดรัฐวิสาหกิจร่วมใจ ไทยปลอดภัยเข้มแข็ง STAY SAFE AND STRONG TOGETHER โดยมี นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการธนาคารออมสิน นายบุญสน เจนชัยมหกุล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และนายอิสระ วงศ์รุ่ง รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าบุคคล ร่วมรับรางวัลทั้งหมด 5 รางวัล
นับเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่ธนาคารออมสินสามารถกวาดรางวัลอันทรงเกียรติมาได้มากถึง 5 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัลบริหารจัดการองค์กรดีเด่น ในฐานะที่ธนาคารมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเมินจากการจัดการด้านต่างๆ อาทิ ด้านศักยภาพในการแข่งขัน ด้านการควบคุม และการตรวจสอบภายใน ด้านการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการสารสนเทศ และการบริหารทรัพยากรบุคคล 2.รางวัลบริการดีเด่น เป็นรางวัลที่สะท้อนบทบาทที่โดดเด่นของธนาคารออมสินในการให้บริการลูกค้าและประชาชน 3.รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล (Digital Transformation Initiative) ประเภทเชิดชูเกียรติ แสดงถึงองค์กรที่มีความโดดเด่น สามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาองค์กรในมิติต่างๆ 4. รางวัลเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น ซึ่งมอบให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีนโยบาย แนวปฏิบัติ การรายงาน และการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน ได้มาตรฐาน ซึ่งนำไปสู่การกำกับดูแลกิจการที่ดี การต่อต้านการทุจริต และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในอนาคต และ 5. รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้วยคณะกรรมการธนาคารมีการกำกับดูแลและส่งเสริมการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินจะปรับบทบาทมุ่งสู่การเป็น Social Bank หรือ ธนาคารเพื่อสังคม อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างผลเชิงบวกแก่สังคม ด้วยการดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอันเป็นภารกิจสำคัญของธนาคาร
ปัจจุบันธนาคารฯ มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ถึง 12.8 ล้านราย หรือ 61.6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนลูกค้ารวม โดยจะปรับภารกิจและกระบวนการทุกด้านของธนาคารให้สอดคล้องกับการเป็น Social Bank เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ในขณะที่การทำภารกิจเชิงพาณิชย์จะเป็นกิจการรองเพื่อสร้างกำไรที่จะนำมาอุดหนุนภารกิจด้านสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าการเติบโตด้วยปริมาณ ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ธนาคารจึงเตรียมพัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ ๆ บนแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ อาทิ บริการปรับโครงสร้างหนี้ การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ตลอดจนบริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) อีกด้วย ด้วยสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต่อไปอีก ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้กิจการค้าขาย/บริการ ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก จำเป็นต้องมีการปรับตัว ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับบทบาทของธนาคารออมสินมุ่งสู่ Social Bank จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตวิถีใหม่มีต้นทุนที่ลดลง ช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ ได้