กรมการข้าวครบรอบ 16 ปี เดินแผนขับเคลื่อนการบริหารจัดการข้าวของประเทศแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป การจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายภารกิจนโยบายที่สำคัญในหลายส่วนให้กับกรมการข้าว กรมการข้าวจึงเร่งดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจและโครงการสำคัญอย่างเร่งด่วน ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีองค์ความรู้ที่ทันสมัย และสามารถนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้มีรายได้ในการดำรงชีพเลี้ยงครอบครัว และเมื่อเกษตรกรมีความเข้มแข็ง เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นได้ตามลำดับ ส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติสามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายอย่างเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล พัฒนาการจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อว่า กรมการข้าวมีภารกิจหลักที่สำคัญมากมายที่เกี่ยวข้องด้านข้าว โดยหลังจากนี้กรมการข้าวจะต้องพัฒนางานและภารกิจต่างๆ อาทิเช่น งานด้านวิจัย กรมการข้าวจะต้องพัฒนางานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ให้เป็นไปตามความต้องการและสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยบูรณาการงานวิจัยร่วมกับภาคการศึกษา ภาคเอกชน และเกษตรกร สำหรับในส่วนด้านเมล็ดพันธุ์ จะเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตั้งเป้าให้ได้ปีละ 200,000 ตัน ด้านการส่งเสริมต้องเน้นให้เกษตรกรทำการรวมกลุ่มใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ สนับสนุนชาวนารุ่นใหม่ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการทำนาให้ได้กำไร ตลอดจนด้านเทคโนโลยีการแปรรูป ควรจัดหาเครื่องมือผลิตภัณฑ์และแปรรูปข้าว จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแปรรูปข้าวครบวงจรแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว และสามารถพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ
“ในส่วนการบริหารงานภายในของกรมการข้าวนั้น จะต้องยกระดับการทำงานให้มากขึ้น โดยเริ่มจากการปรับโครงสร้างภายในองค์กร เร่งรัดหาอัตรากำลังเพิ่ม เพื่อเสริมศักยภาพการทำงาน ซึ่งยังถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากร นอกจากนั้นจะต้องบริหารด้านการเงินให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้การใช้งบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
ด้านดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานพิธีประกาศเกียรติคุณ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น คนดีศรีข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น และศูนย์วิจัยข้าวดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2564 เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมการข้าว โดยมี นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ กรมการข้าว ว่า ข้าวและชาวนานับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ซึ่งข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาอย่างช้านาน สามารถสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ กรมการข้าวจึงมุ่งที่จะศึกษา วิเคราะห์ วิจัยหาแนวทางการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการข้าวของประเทศแบบครบวงจร ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป การจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งได้ดูแลชีวิตชาวนาถึง 4.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 18 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตระหนักและเข้าใจปัญหาที่ชาวนาเผชิญอยู่ ทั้งในเรื่องราคาข้าวตกต่ำ การส่งออกลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สถานการณ์ภัยธรรมชาติ ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายประกันรายได้เกษตรกร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการผลิต 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ดำเนินนโยบายคู่ขนานต่าง ๆ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้น
สำหรับด้านการพัฒนาการผลิตข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายปรับปรุงพันธุ์ข้าวและผลิตพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการผลิตข้าวอินทรีย์ การตรวจรับรองการผลิตข้าวคุณภาพ การส่งเสริมการทำนาแบบแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ สร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพการผลิต อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงการตลาดทำให้เกิดความร่วมมือในการผลิต สามารถผลักดันให้ชาวนารวมกลุ่มการผลิต เพื่อจะได้มีอำนาจในการต่อรองร่วมกัน เพื่อให้พี่น้องชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบคือบุคลากร ที่จะต้องเสียสละทุ่มเทอุทิศตน ทั้งกำลังกายและกำลังใจ ปฏิบัติงานหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วยความขยันขันแข็งและซื่อสัตย์สุจริต ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญและให้โอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญในสายงาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป