กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ครบรอบ 85 ปี Years of DOA : Connect Every Smile To The Bright Future เชื่อมต่อทุกรอยยิ้ม สู่อนาคตที่สดใส เตรียม 5 ยุทธศาสตร์พัฒนาสนามบินภูมิภาคตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งของไทย
นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เปิดเผยว่าในโอกาสกรมท่าอากาศยานดำเนินงานครบ 85 ปี จัดงานภายใต้แนวคิด 85 Years of DOA : Connect Every Smile To The Bright Future เชื่อมต่อทุกรอยยิ้ม สู่อนาคตที่สดใส โดย ทย.ได้จัดทำแผนการพัฒนาท่าอากาศยานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้หัวข้อ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน มีเป้าหมายให้ท่าอากาศยานในสังกัดเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ผ่านอุตสาหกรรมและบริหารขนส่งและโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายใหญ่คือการพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทย เชื่อมโลก โดยให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงคมนาคมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากไทยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลาง
สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม 5 ปี สู่การเป็น นำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยาน 5 ปี ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 จัดให้มีและพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบินได้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการมีท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่ จ.มุกดาหาร บึงกาฬ และสตูล และจัดให้มีท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานเบตง อ.เบตง จ.ยะลา
รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานผ่านโครงการพัฒนาท่าอากาศยานแม่สอด กระบี่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และตรัง และการเพิ่มขีดความสามารถลานจอดอากาศยานที่ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานลำปาง และท่าอากาศยานบุรีรัมย์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปรับปรุง บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารเร่งด่วน ณ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานตรัง และท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่อาคารไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ในปัจจุบัน ก่อนที่โครงการจะแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐาน ICAO ผ่านโครงการระบบตรวจค้นสัมภาระอัตโนมัติหลังเคาน์เตอร์เช็กอิน EDS in line เริ่มติดตั้งปี 2560 ซึ่งจะแล้วเสร็จตามแผนในปีนี้ รวมถึงโครงการจัดหารถดับเพลิงเพื่อทดแทนรถรุ่นเดิม
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นด้านพัฒนา – ปรับปรุงการบริหารจัดการท่าอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการจัดสรรทรัพยากรด้านพื้นที่ออกบัตรโดยสารที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านโครงการ Common Use Check-in ที่ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นท่าอากาศยานนำร่อง รวมถึงการให้บริการฟรีอินเตอร์เน็ตไร้สายในท่าอากาศยานทุกแห่งในสังกัดทย.เพื่อเพิ่มการให้บริการและสนองตอบต่อ Life Style ของผู้โดยสารในปัจจุบันโดยจะดำเนินการแล้วเสร็จในประมาณเดือน เม.ย. ปีนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยมุ่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้มีความโปร่งใสในการประกวดราคาพื้นที่ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเข้ารัฐอย่างเหมาะสมและควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงกว่าราคาขายภายนอกท่าอากาศยาน รวมถึงสนับสนุนโครงการประชารัฐวิสาหกิจชุมชนของรัฐบาล โดยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีพื้นที่ในการประกอบกิจการผ่านวิธีการคัดเลือกที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีต้นทุนที่ถูกกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ยุทธศาสตร์ที่ 5 บริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ปรับโครงสร้างองค์กร ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายหน้าที่ รวมถึงปลูกฝังแนวคิดการให้บริการผู้โดยสารผ่านโครงการยิ้มแย้มยินดี สุขขีที่บ้านเรา เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรด้านบริการ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักในปัจจุบัน