บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดนวัตกรรมใหม่ รถเติมน้ำมันอากาศยานขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ EV Hydrant Dispenser คันแรกในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) ผู้นำด้านการบริการน้ำมันอากาศยานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า บริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด ผู้ผลิตรถเติมน้ำมันอากาศยานชั้นนำของไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ BAFS ร่วมกับ ITURRI ประเทศสเปน ผู้นำการผลิตรถเติมน้ำมันอากาศยานระดับโลกซึ่งเป็นผู้ผลิต รถเติมน้ำมันอากาศยานขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ประเภท Hydrant Dispenser โดยใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องยนต์ สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 170 กิโลเมตร และให้บริการเติมน้ำมันได้เฉลี่ย 8 เที่ยวบินต่อการชาร์จไฟฟ้าเต็มหนึ่งครั้ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับรถเติมน้ำมันอากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล
“ด้วยความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการและการให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานตามขั้นตอนและมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและธุรกิจด้านพลังงานมามากกว่า 30 ปี BAFS มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน โดยการพัฒนาและสรรหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถเสริมศักยภาพด้านการบริการน้ำมันอากาศยาน พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS กล่าว
ภายในงาน มีคณะผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ร่วมเปิดตัวรถเติมน้ำมันอากาศยานขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า โดย BAFS ได้ให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบินของสายการบิน Air Asia เที่ยวบินที่ FD3029 เดินทางจากดอนเมือง – ภูเก็ต ณ พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นับเป็นเที่ยวบินแรกที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในธุรกิจบริการน้ำมันอากาศยานในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ เปิดเผยถึงทิศทางในปี 65 ว่าคาดการณ์ปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานจะเติบโตได้ 125 เปอร์เซ็นต์ หรือแตะระดับ 3,994 ล้านลิตร โดยน้ำมันภาคพื้น คาดว่าเติบโต 11 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่ผ่านมาที่คาดว่าปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานลดลง 25เปอร์เซ็นต์ หรืออยู่ที่ 1,772 ล้านลิตร และน้ำมันภาคพื้นอยู่ที่ 4,200 ล้านลิตร
อย่างไรก็ตามบริษัทวางแผนธุรกิจระยะ 5 ปี วางนโยบายว่าจะต้องมีความมั่นคงจากโครงสร้างรายได้ โดยรายได้หลักจากอุตสาหกรรมการบินคิดเป็นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และจากภาคธุรกิจสาธารณูปโภค-พลังงาน รวมถึง กลุ่มบริการด้านธุรกิจอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปี 65 ยังคงดำเนินแผนการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT และบริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยวางงบลงทุนประมาณ 14,000 ล้านบาท