APURE ติดตั้งเครื่องจักรเพื่มเสริมไลน์ผลิต คาดปี 65 กำลังเพิ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ สบช่องเจรจาลูกค้ารายใหม่ในEU
บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE ผู้ส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปคุณภาพสูงเผยแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าเติบโตเพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากครึ่งปีแรก ตามปริมาณขายข้าวโพดที่คาดเพิ่มขึ้นถึง 1,400-1,500 ตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมเดินเกมรุก ติดตั้งเครื่องจักร – ขยายกำลังการผลิต เสริม ยอดกำลังการผลิตปลายปีนี้ ส่งผลปี2565 บริษัทฯมีกำลังการผลิตรวมเป็น 11,500 ตู้คอนเทนเนอร์ เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบัน 9,000 ตู้คอนเทนเนอร์
นายสุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE เปิดเผยว่า จากภาพรวมอุตสาหกรรมการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปในครึ่งปีหลังทั้งในตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงในตลาดเอเชีย ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดังกล่าวที่เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ จากดีมานด์การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ APURE ประเมินอัตราการเติบโต จากยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นไปตามปริมาณคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ ที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศในต่างประเทศ ยังเป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบให้ผลผลิตข้าวโพดมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการนำเข้าข้าวโพดหวานเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯมียอดออเดอร์ ที่เตรียมส่งมอบแล้ว 1,400 -1,500 ตู้คอนเทนเนอร์
“บริษัทได้มีการทำสัญญากับเกษตรกร สัดส่วนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้บริษัทฯสามารถเพิ่มปริมาณข้าวโพดเข้าไลน์การผลิตได้มากถึง 300,000 ตันต่อปี จากเดิม 150,000 -180,000 ตันต่อปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทยังมีขีดความสามารถในการขยายการรับออเดอร์ใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง จากดีมานด์การสั่งซื้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากระดับราคาของบริษัทฯสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทย ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ เนื่องจากคุณภาพข้าวโพด และรสชาติ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในต่างประเทศเป็นอย่างดี จนประสบความสำเร็จในการเข้าไปขายในตลาดวอลมาร์ท” ประธานกรรมการ APURE กล่าว
ขณะที่ ตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU)นั้นบริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหม่ อย่างห้างสรรพสินค้า โดยล่าสุดได้มีการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อทดลองให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯคาดว่าดีลดังกล่าวจะสามารถสรุปได้ในเร็วๆนี้ หากสำเร็จส่งผลให้บริษัทฯสามารถขยายช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่ายสู่ยุโรปได้เพิ่มขึ้น
ส่วนตลาดในเอเชีย อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีนนั้น นายสุเรศพล กล่าวว่า แม้ค่าระวางเรือจะปรับตัวสูงขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการขนส่งไปยังฝั่งทวีปอเมริกาใต้ สหภาพยุโรป ประเทศสหรัฐ และประเทศอินเดีย ดังนั้นจึงทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมียอดขายเติบโตตามเป้าที่วางไว้
“บริษัทฯยังคงต้องติดตามค่าระวางเรืออย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องยอมรับว่าผลกระทบจากค่าระวางเรือเป็นตัวแปรหลัก ที่ทำให้ลูกค้าบางรายมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น ดังนั้นโดยส่วนตัวมองว่า หากสถานการณ์การขาดแคลนด์ตู้คอนเทนเนอร์ และค่าขนส่ง กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อไหร่ บริษัทมีโอกาสขยายตัวได้อย่างมาก เพราะลูกค้าในปัจจุบันนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวโพด ที่มาจากประเทศไทย เพราะมั่นใจคุณภาพข้าวโพด และรสชาติ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดส่งผลให้แบรนด์สินค้าของบริษัทเป็นที่รู้จักและที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศอย่างมาก”
ล่าสุดบริษัทมีการนำเข้าเครื่องจักรมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งเครื่องจักร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน จะเตรียมเดินเครื่องจักรได้ในช่วงปลายปี 2564 ก่อนที่จะใช้กำลังการผลิตได้เต็มกำลัง 2,000 -2,500 ตู้คอนเทนเนอร์ ในกลางปี 2565 ส่งผลให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตรวมเป็น 11,500 ตู้คอนเทนเนอร์ เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ 9,000 ตู้คอนเทนเนอร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ภาคส่งส่งออกหัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยหลักในขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศที่เริ่มมีการเผชิญการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีแนวโน้มรุนแรง ขณะที่ปัจจัยในประเทศเองภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน อย่างไรก็ดี โครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) น่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้บ้าง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12.4 เปอร์เซ็นต์ จาก 11.5 เปอร์เซ็นต์