บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดผลประกอบการไตรมาส1/2563 มีรายได้รวม 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกำไร 5,645 ล้านบาท
นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคไควิด- 19 ในปีนี้ บริษัทจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า เพื่อควบคุมให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ในช่วงไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 5,645 ล้านบาท โดยในแง่ของรายได้รวมบริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 145,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 5.2 เปอร์เซ็นต์ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อจากสาขาใหม่ที่เปิดในรอบปีที่ผ่านมา และรายได้จากการขายและบริการของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน CPALL เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะที่กำไรขั้นต้นบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 31,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2 เปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีกที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้จากการขายและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจสยามแม็คโคร อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรขั้นต้นในงบการเงินรวมเท่ากับ 22.1เปอร์เซ็นต์ปรับลดลงจาก 22.3 เปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสัดส่วนกำไรขั้นต้นที่มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อลดลง
ขณะเดียวกันผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ในช่วงไตรมาส 1/2563 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่รวมทั้งสิ้น 27 สาขาในทุกประเภท ทั้งร้านสาขา บริษัท ร้าน store business partner (SBP) และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น ณ สิ้นไตรมาส 1/ 2563 บริษัทมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 11,983 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาบริษัท 5,401 สาขา ร้านเปิดใหม่สุทธิ 186 สาขา ในไตรมาสนี้ ,ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,582 สาขา ร้านเปิดใหม่สุทธิ 85 สาขา ในไตรมาสนี้ ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งคิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
สำหรับรายได้จากการขายสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค ยังคงเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มอาหารมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงกว่าสินค้าอุปโภค สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของยอดขายอาหารพร้อมทาน อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และเครื่องดื่ม ส่งผลให้สัดส่วนของรายได้จากการขาย 70.8 เปอร์เซ็นต์มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 29.2 เปอร์เซ็นต์มาจากสินค้าอุปโภคไม่รวมบัตรโทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม สินค้าอุปโภค กลุ่มสินค้าดูแลสุขภาพ ยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด มีอัตราการเติบโตของยอดขายในระดับที่สูง