KBS เดินแผนลงทุน 3,000 ลบ.สร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ลุยผลิต 2 ล้านตันต่อปี ขึ้นชาร์จผู้นำธุรกิจน้ำตาลครบวงจร
KBSส่งเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพและความหลากหลายผลิตภัณฑ์ ผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจน้ำตาลครบวงจร เตรียมจ่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ด้วยเงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1–1.2 ล้านตันต่อปี พร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าด้วยเงินทุน 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิตขนาด 18 เมกะวัตต์ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา คาดก่อสร้างเสร็จเดือนธันวาคมปีนี้
นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทมีนโยบายมุ่งเสริมศักยภาพกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายให้มีความเข้มแข็งและต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลพอร์ตรายได้เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำผู้นำธุรกิจน้ำตาลครบวงจร โดยแผนดำเนินงานธุรกิจน้ำตาล บริษัทจะใช้จุดเด่นความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาล และนำเทคโนโลยีการผลิตมาช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต หลังได้ลงทุนคอนดิชันนิ่ง ไซโลน้ำตาล ช่วยลดการจับตัวเป็นก้อน ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย สอดคล้องกับจังหวะราคาน้ำตาลโลกขยับตัวขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายสีรำ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลทรายขาวผสมซูคราโลส (Sucralose) เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคทั่วไป ทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศในทวีปเอเชีย
ขณะที่ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 35,000 ตันต่อวัน โดยในรอบการผลิตของปี 2561/2562 มีอ้อยเข้าหีบ 3,298,841.44 ตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทุกประเภทรวม 3,726,503.85 กระสอบ คิดเป็นน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยีลด์) อยู่ที่ 112.96 กิโลกรัม และรอบการผลิตปี 62/63 หลังเปิดหีบมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีอ้อยเข้าหีบแล้ว 1,400,000 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 1,484,000 ล้านกระสอบ คิดเป็นน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 105.96 กิโลกรัมต่อตันอ้อย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนของธุรกิจ โดยสร้างความมั่นคงด้านผลผลิต ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก และการจัดเก็บผลผลิตให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา เพื่อนำส่งอ้อยมีคุณภาพให้แก่โรงงาน ประกอบกับมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์น้ำตาลภายใต้แบรนด์ KBS ให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า และนำผลพลอยได้สร้างความเข้มแข็งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอกย้ำผู้นำธุรกิจน้ำตาลอย่างครบวงจร
นายอิสระกล่าวว่า บริษัทยังมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ กำลังการผลิต 12,000 ตันต่อวัน และขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มเติม ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งดำเนินการโดย KPP หรือ บริษัทผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ที่ KBS ถือหุ้นอยู่ 99.99 เปอร์เซ็นต์ สำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ที่ตั้งอยู่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการลงทุนก่อสร้าง กำลังการผลิตไฟฟ้า 18 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีแล้วจำนวน 1 โรง ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 16 เมกะวัตต์
ตอนนี้ปริมาณน้ำตาลตลาดน้ำตาลโลกมีทิศทางลดลง ส่วนผลจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ได้กระทบการส่งออกไปตลาดจีน แต่ในทางตรงกันข้ามเกิดการกักตุน โดยจีนยังคงนำเข้าเช่นเดิมเพื่อเก็บสินค้าไว้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการบริโภคน้ำตาลในประเทศไทยไม่กระทบ เพราะส่วนใหญ่ส่งสินค้าเข้าโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับราคาน้ำตลาดในประเทศนั้นทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายยังกำหนดให้จำหน่ายน้ำตาลทรายขาว กก.ละ 17.25 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 18.25 บาท
“รู้ว่าแล้งหนักมากในรอบ 40 ปี ปีนี้ก็เช่นกันเราต้องพยายามลดต้นทุนลงอีกเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง แม้ปีนี้จะบรรเทาลงเพราะเริ่มมีความชื้นแล้ว แต่เราก็ปรับแผนปลูกอ้อยให้ชาวไร่คู่สัญญา โดยเลื่อนเวลาเพาะปลูกจากเดิมช่วงปลายปีที่ผ่านมา (อ้อยข้ามแล้ง) เป็นเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ (อ้อยต้นฝน) แทน” นายอิสระ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม KBS ยังเน้นที่ธุรกิจน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 78 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นธุรกิจที่บริษัทมีจุดแข็งและเชี่ยวชาญ รวมถึงธุรกิจซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) กากน้ำตาล 11เปอร์เซ็นต์ และชะลอแผนลงทุนโรงงานเอทานอล เนื่องจากยังไม่ใช่ธุรกิจที่ชำนาญ บวกกับปัจจุบันกำลังการผลิตเอทานอลยังเกินความต้องการใช้อยู่มาก ขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีไฮบริดเข้ามา เอทานอลอาจยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะจะลงทุน แต่อย่างไรก็จะทบทวนแผนการลงทุนใหม่เมื่อรัฐส่งเสริมจริงจัง ยิ่งไปกว่านั้น KBS ยังมีแผนจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี จำนวนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อระดมเงินไปลงทุนในโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่