PLE คาดปี 64 ผลประกอบการกลับมาสดใสตั้งเป้ารายได้โต 10 เปอร์เซ็นต์ ตุน Backlog 20,000 ลบ.เร่งเดินหน้าประมูลงานภาครัฐหวังเสริม Backlog ไร้แผนลงทุนอสังหาฯไม่พร้อมรับความเสี่ยง
บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) มั่นใจผลประกอบการจบปี 2564 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ โชว์งานในมือราว 20,000 ล้านบาท หลังปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รายได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นายเสวก ศรีสุชาต ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง หรือ PLE คาดการณ์ผลการดำเนินงานในปี 64 ว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานปี 2564 นี้จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ หลังจากปี 2563 ยอมรับว่าน่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 220.54 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบกับการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ เพราะทำให้การส่งมอบงานล่าช้าออกไป แต่ในปีนี้บริษัทจะเร่งส่งมอบงานให้มากขึ้น เพื่อผลักดันรายได้ให้เติบโตราว 10 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนคาดว่ารายได้จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562
ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ(Backlog) ราว 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทเตรียมเข้าประมูลงานใหม่เพิ่ม โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้า, งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ เป็นต้น คาดหวังจะได้รับงานดังกล่าวราว 8,000-9,000 ล้านบาท
ส่วนงานภาคเอกชนมีงานขนาดใหญ่ที่จะเข้าประมูล ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), One Bangkok และบมจ.ดุสิตธานี (DTC) คาดหวังจะได้งานราว 1,000-2,000 ล้านบาท แต่มองว่างานภาคเอกชนในปีนี้น่าจะมีการเปิดประมูลค่อนข้างน้อย ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ดังนั้นบริษัทจะมุ่งไปที่งานภาครัฐเป็นหลักก่อน
นายเสวก เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปีนี้ยังเป็นปีที่เหนื่อยเนื่องจากงานภาคเอกชนของเราขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการอสังหาริทรัพย์ แต่ก็ยังไม่ค่อยแผนที่จะขยาย และยังมีงานค้างท่ออยู่อีกมาก แต่เรามีการปรับแผนมามุ่งในงานราชการ พวกโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คาดว่าจะช่วยผลักดันงานในมือให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังต้องเร่งส่งมอบงาน โดยเฉพาะงานที่ไม่เสร็จในปีก่อน เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตและกลับมามีกำไรสุทธิ
ประธานกรรมการบริหาร PLE บริษัทจะเดินหน้าประมูลงานใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 โดยยังคงเน้นงานภาครัฐซึ่งคาดว่าจะมีออกมามาก หลังจากเลื่อนการประมูลไปจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรกโดยมีมูลค่างานที่ติดตามอยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท และบริษัทคาดหวังจะได้รับงานมากที่สุด แม้ว่าจะเป็นงานที่มีมาร์จิ้นไม่สูงที่ 10-12 เปอร์เซ็นต์ จากปกติที่บริษัทคาดหวังการรับงานที่มีมาร์จิ้น 12-15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการประมูลงานภาครัฐจะต้องแข่งขันด้านราคาต่ำที่สุด แต่บริษัทได้มีการคำนวณต้นทุนต่างๆไว้แล้ว ทำให้มั่นใจว่างานที่บริษัทจะได้รับมาสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ งานภาครัฐที่บริษัทจะเข้าประมูลเร็ว ๆ นี้ คือ งานก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มูลค่า 2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังที่จะคว้างานมาได้ เพราะบริษัทมีงานก่อสร้างให้กับ AOT อยู่แล้ว 2 งาน ที่สนามบินดอนเมืองในส่วนของอาคารบริการผู้โดยสาร และการเชื่อมจากรถไฟฟ้าสายสีแดงมาลานจอดรถ 7 ชั้น และยังมองถึงโอกาสในการเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ แม้ว่าจะมีโอกาสได้งานค่อยข้างยากเพราะ TOR คาดว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมาที่สูง แต่บริษัทจะพยายามให้มากที่สุด เพื่อมีโอกาสในการได้เข้าร่วมประมูล
อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้ามียอดขายเพิ่มเป็น 40-50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2564 ก่อนที่โครงการจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 และบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนคอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัยอื่นเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพราะสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีความเสี่ยงและมีการแข่งขันที่รุนแรง