STGT ขยายกำลังผลิต ตั้งเป้าขยับสู่ผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก ตั้งรีบดีมานด์จากโรคระบาดโควิด – 19

บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ โชว์ศักยภาพธุรกิจถุงมือยาง การขยายกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง รับดีมานด์ทั่วโลกเติบโตและความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น มองแผนระยะยาวเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งแตะ 100,000 ล้านชิ้นภายในปี 2575

            นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนขยายกำลังการผลิตถุงมือยางอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายในการรักษาการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก

บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตถุงมือยางธรรมชาติและรักษาสัดส่วนผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้น้ำยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบอย่างเหมาะสม รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต            

ปัจจุบันบริษัทฯ เชื่อว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 27,153 ล้านชิ้นต่อปี จากกำลังการผลิตโรงงาน 3 แห่ง ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานีและตรัง โดยระยะยาววางแผนขยายกำลังการผลิตเป็น 2 ระยะ โดยเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นประมาณ 50,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2568 และก้าวสู่ 100,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2575

นอกจากนี้ได้นำระบบการผลิตสินค้าแบบอัตโมนัติมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเตรียมและผสมวัตถุดิบแบบอัตโนมัติ, ระบบตรวจจับของเสียด้วยเซ็นเซอร์, ระบบเครื่องถอดถุงมืออัตโนมัติ เป็นต้น

           

            ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนขยายตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ แอฟริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ ซึ่งกำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัย ดังนั้นอัตราการบริโภคถุงมือยางเฉลี่ยต่อคนต่อปีจึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต โดย STGT จะใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงงานในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์การเพาะปลูกยางพาราและโรงงานผลิตน้ำยางข้นของกลุ่ม STA ที่เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและซัพพลายเชน

ถุงมือยางติดสินค้าดาวรุ่งทำรายได้ ยอดส่งออกไตรมาสแรกโต 16 เปอร์เซ็นต์

พาณิชย์เผยวิกฤตโควิด-19 เป็นแรงส่ง ดันถุงมือยางขึ้นแท่นสินค้าดาวรุ่ง ทำยอด 4 เดือนแรกปี 2563 พุ่ง 16 เปอร์เซ็นต์หนุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อช่วยส่งออกตลาดโลก

            นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วย นอกจากนี้ ถุงมือยางยังเป็นสินค้าจำเป็นในยุคความปกติใหม่ (New Normal) เพราะประชาชนตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและหันมาใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อโรคมากขึ้น ทำให้ความต้องการถุงมือยางในตลาดสูงขึ้นหลายเท่าตัว

จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) พบว่า ไทยส่งออกถุงมือยางไปตลาดโลกมูลค่า 449 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 16 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2562 มีตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น จีน ขยายตัว 129.5 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าส่งออก 31 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย ขยายตัว 79 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าส่งออก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน ขยายตัว 77 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าส่งออก 18 ล้านเหรียญสหรัฐ และ สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 9 เปอร์เซ็นต์มีมูลค่าส่งออก 194 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยมีห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมถุงมือยางที่ครบวงจร คือ มีผลผลิตยางพารา สามารถผลิตน้ำยางข้นได้เอง และมีเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางที่มีมาตรฐาน ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งทั้งในด้านต้นทุนราคาและได้รับการยอมรับด้านคุณภาพ รวมถึงสามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศและเพื่อการส่งออก ดังนั้น ในช่วงที่แนวโน้มความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นแต้มต่อช่วยในการส่งออก โดยปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าถุงมือยางของไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าถุงมือยางที่ 10 เปอร์เซ็นต์