บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและรองรับกระแส new normal หรือวิถีปกติใหม่ พัฒนาสินค้าใหม่วางขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง
นายชัชชวี วัฒนสุข ประธานกรรมการบริหาร TACC กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าส่งสินค้าใหม่วางขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อกระตุ้นยอดขายและรายได้ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเตรียมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไป รองรับกระแส new normal หรือวิถีปกติใหม่ โดยเฉพาะการวางแผนการจับจ่ายใช้สอยก่อนออกจากบ้านมากขึ้น
สำหรับไตรมาส1/2563 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 328.16ล้านบาท ลดลง 7.04 เปอร์เซ็นต์ จากผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และมีกำไรสุทธิ 42.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.80 ล้านบาท หรือ 18.99เปอร์เซ็นต์ เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 35.83 ล้านบาท จากการเพิ่มยอดขายในสินค้าที่มีกำไรสูง และการพัฒนาต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ทิศทางของบริษัทต่อจากนี้ยังคงเน้นการออกสินค้าใหม่ในกลุ่มที่มีการเติบโตสูง กำไรสูง อย่างต่อเนื่อง
ด้านนางจิรพรรณ คชฤทธิ์ชูแสง รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่าแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากโควิดในแง่ของรายได้ แต่ในแง่ของกำไรมองว่าสามารถบริหารจัดการได้ จากกลยุทธ์ที่เน้นการขายสินค้ามีกำไรได้มากขึ้น และสัญญาณที่ดีจากการประกาศเลิกเคอร์ฟิว ทำให้ช่องทางอย่างร้านสะดวกซื้อเซเว่นฯมีเวลาขายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงสร้างรายได้ของบริษัทสามารถแบ่งได้เป็นรายได้จากธุรกิจ B2B คิดเป็นสัดส่วนถึง 93 เปอร์เซ็นต์ เช่น เครื่องดื่มโถกดในเซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 11,000 สาขาน็อนคอฟฟี่เมนูในร้านออลล์ คาเฟ่กว่า 7,300 สาขา และเครื่องกดเครื่องดื่มร้อนตามปั๊มน้ำมัน 637 เครื่อง และธุรกิจ B2Cคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7เปอร์เซ็นต์ อาทิ ธุรกิจแคแร็กเตอร์ ชาเขียวเซ็นย่า เครื่องเขียน ฯลฯ
ซึ่งนอกจากการเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจ B2B ที่มีอยู่ด้วยการเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ รสชาติใหม่ ๆ เข้าไปกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีแผนที่จะบริหารความเสี่ยงโดยการเพิ่มสัดส่วนของพันธมิตรนอกเหนือจากเซเว่นอีเลฟเว่นให้มากขึ้น เช่น ในกลุ่มฟู้ดเซอร์วิสทั้งเชนและน็อนเชนต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาได้จับมือกับกาแฟมวลชน จังเกิลคาเฟ่อาราบิเทียคาเฟ่ แบล็คแคนยอน เป็นต้น
ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนธุรกิจ B2Cให้มากขึ้น จากธุรกิจแคแร็กเตอร์ ที่ปัจจุบันได้สิทธิ์ใน 7 ประเทศ ได้แก่ซีแอลเอ็มวี สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนหลักกว่า 60เปอร์เซ็นต์ ในไทย อีกกว่า 20เปอร์เซ็นต์ในมาเลเซียและสิงคโปร์