ttb analytics คาดการณ์เศรษฐกิจปี 65 GDP แนวโน้มขยายตัว 3.6 เปอร์เซ็นต์ ภาคส่งออกแรงขับเคลื่อนหลัก เชื่อเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในโหมดฟื้นตัว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เผยเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัว 3.6 เปอร์เซ็นต์ จากทุกองค์ประกอบที่มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่วนการลงทุนภาครัฐยังขยายตัวเพิ่มขึ้น การส่งออกเติบโตต่อเนื่อง
ล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2564 ปรับลดลง 0.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่ยังคงได้แรงหนุนต่อเนื่องจากภาคการส่งออกที่เติบโต 15.3 เปอร์เซ็นต์ และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งมีแรงขับเคลื่อนเพิ่มจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ขณะเดียวกันยังคงมีแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรในวงจำกัด ทำให้เศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปีมีทิศทางดีขึ้น และหนุนภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ 1 เปอร์เซ็นต์
ttb analytics เชื่อว่า ปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะช่วยดัน GDP ไทยปี 2565 ให้โตต่อเนื่องที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ โดยการเปิดประเทศได้เร็ว การคลายล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นปัจจัยบวกส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและบรรยากาศทางธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ทำให้ภาพรวมการบริโภคฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิดได้เร็ว
ขณะเดียวกันยังพบว่าความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในส่วนของสินค้าคงทน หลังสถานการณ์โควิดเริ่มมีทิศทางดีขึ้น (Pend Up Demand) สะท้อนให้เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดรับการเปิดประเทศที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ฟื้นคืนกลับมา รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมที่คลี่คลายในหลายพื้นที่ และการเดินหน้าเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่เป็นช่วงไฮซีซันจะช่วยให้ดีมานด์รถยนต์ดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565
ทั้งนี้ ttb analytics มองว่าภาคการส่งออกปี 2565 ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย และอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่โหมดฟื้นตัว นำไปสู่ความต้องการสินค้าใกล้เคียงช่วงปกติได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ทำให้มูลค่าส่งออกไทย (รูปเงินดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับกับประมาณการปี 2564 ที่จะโตได้ถึง 15.7เปอร์เซ็นต์ (เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็วประกอบกับผลของฐานต่ำในปี 2563) แต่ตัวเลขส่งออกในระดับนี้นับว่าเป็นการขยายตัวที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนสถานการณ์โควิด และเป็นการขยายตัวที่สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่กลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งภาวะที่เศรษฐกิจอาจมีแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลง
ขณะทางรัฐบาล โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมว่า ไทยส่งออกมีมูลค่า 22,738 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 17.4 เปอร์เซ็นต์ จากการขยายตัวของทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และการฟื้นตัวของตลาดคู่ค้า ส่งผลให้ 10 เดือนแรก 2564 ส่งออกได้รวม 222,736 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 15.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นำเข้าเดือนตุลาคม มีมูลค่า 23,109 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 34.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่นำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต โดย 10 เดือนแรกนำเข้ารวม 221,089 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 31.3 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เดือนตุลาคม ขาดดุลการค้า 370.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน 10 เดือนยังได้ดุลการค้า 1,647 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ดูแนวโน้มการส่งออก 2 เดือนที่เหลือปีนี้ สินค้านำเข้าสินค้าจากไทยยังสูงได้ต่อเนื่อง คาดเฉลี่ยต่อเดือนยังขยายตัวได้ 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้มั่นใจว่าทั้งปี 2564 การส่งออกไทยขยายตัว 15-16 เปอร์เซ็นต์ หรือมูลค่าประมาณ 2.6-2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทประมาณ 8.87 ล้านล้านบาท เมื่อดูสถิติย้อนหลังในแง่การขยายตัวปี 2564 ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 2553 ที่ปีนี้ขยายตัว 26.8 เปอร์เซ็นต์ แต่ในแง่มูลค่าถือว่าเป็นสูงสุดเป็นประวัติการณ์หรือนับจากทำการเก็บสถิติการค้าระหว่างประเทศในปี 2534 หรือประมาณ 30 ปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิม 4 เท่าตัว หรือจากบวก 4เปอร์เซ็นต์ เป็น 16 เปอร์เซ็นต์”
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยหลักผลักดันการส่งออกในภาวะวิกฤตโควิด คือ การทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาและส่งเสริมการส่งออก การฟื้นตัวของการค้าโลกและเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทอ่อนค่า และราคาน้ำมันสูงส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันราคาสูงขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เตรียมประชุมหารือกับภาคเอกชน ผู้ส่งออก และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อจัดทำแผนงานผลักดันการส่งออกปี 2565 และเป้าหมายตัวเลขการส่งออก ซึ่งกำหนดจะประกาศภายในสิ้นปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทิศทางการส่งออกยังขยายตัวเป็นบวก แต่ตัวเลขขยายตัวอาจไม่ได้สูงเท่าปีนี้ เพราะฐานสูงมากแล้ว