น้ำตาลเกษตรผล เดินหมากลงเครื่องจักรใหม่ รองรับการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทรายคุณภาพส่งลูกค้าต่างประเทศ ส่วนทิศทางอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขยับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 12–13 เซ็นต์ต่อปอนด์
บริษัท
น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ที่ผ่านมามีกำลังการผลิต
12,000 ตันอ้อยต่อวัน
ซึ่งกำลังผลิตไม่ทันต่อผลผลิตที่ชาวไร่นำมาส่งขายให้โรงงาน ซึ่งทำให้บริษัทฯทำการขยายกำลังการผลิตจึงมีแผนงานที่จะดำเนินการในระยะแรก
คือ การติดตั้งชุดเครื่องจักรในสายการผลิตใหม่ เพื่อรองรับกำลังการผลิตให้เป็น 18,000
ตัน และขยายกำลังการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ จากเดิม 500 ตันต่อวันเป็น 1,500
ส่วนระยะที่ 2 บริษัทได้ทำการว่าจ้างบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่นเอ็นจิเนียริ่งกรุ๊ป
นับเบอร์วัน อินสตอลเลชั่น จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดหาวัสดุอุปกรณ์
และติดตั้งเครื่องจักร ในการขยายกำลังการผลิตน้ำตาล จากวันละ 12,000 ตัน เป็นวันละ 30,000 ตัน
ด้วยการก่อสร้างงานสระพ่นน้ำ และบ่อบำบัดน้ำเสีย วงเงิน 142,523,000 บาท และจัดหาวัสดุ ติดตั้งเครื่องจักร วงเงิน 6,231,000,000 บาท เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไอน้ำและไฟฟ้าจึงมีการก่อตั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด
140 เมกะวัตต์จากเชื้อเพลิงซากอ้อยขึ้นภายใต้ชื่อบริษัท เกษตรผล power
plant จำกัด เพื่อเป็นแหล่งต้นกำลังในการจ่ายไอน้ำและไฟฟ้าให้แก่โรงงานน้ำตาล
ในส่วนไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานจะส่งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าต่อไปในอนาคต
ล่าสุดบริษัท น้ำตาลเกษตรผล ร่วมกับ บริษัทยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย ส่งมอบเครื่องปลูกอ้อยแบบลึก ให้กับบริษัทฯ โดยมี มร.โนบุฮากิ ทากาฮาชิ รองประธานบริษัทยันม่าร์ เอส.พี จำกัดเป็นประธานในพิธีมอบจำนวน 100 เครื่อง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล อันเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการพัฒนาวิธีการปลูกอ้อยคุณภาพด้วยเทคโนโลยีออกแบบที่ทันสมัย ซึ่งเป็นการคิดค้นร่วมกันระหว่างยันม่าร์ โรงงานน้ำตาลและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ในการปลูกอ้อยให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและเติบโตข้ามแล้งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับเครื่องปลูกอ้อยยันม่าร์ติดตั้งได้กับแทรกเตอร์ขนาด 70-100 แรงม้า ตัวเครื่องมีขนาดกระทัดรัดปลูกอ้อยที่ความลึกคงที่ตั้งแต่ 25 – 30 เซนติเมตร พร้อมสับท่อนพันธุ์ ปลูก ใส่ปุ๋ย และกลบดินได้ในคราวเดียวกัน ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีท่อนพันธุ์งอกงามเติบโตเสมอกัน การปลูกที่เหมาะสมให้ผลผลิตดีจะเว้นระยะห่างระหว่างแถว 25 เซนติเมตรและเว้นระยะห่างของร่องอ้อย 160 เซนติเมตรจึงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกอ้อยข้ามแล้งและยังช่วยให้มีอัตราการงอกการแตกกอได้ดี รากอ้อยหยั่งลงดินได้ลึก ทำให้ลำต้นแข็งแรงลดอัตราอ้อยล้ม ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง โดยปลูกครั้งเดียวสามารถไว้ตอได้นานถึง 3 – 4 ปี นอกจากยันม่าร์จะมีเครื่องปลูกอ้อยแล้วยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
ทิศทางอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยปี 63/64
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต7 เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกส่งมอบล่วงหน้าขยับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกเผชิญปัญหาไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อการส่งออกซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยหากราคาเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าวในช่วงนี้ก็จะทำให้โอกาสที่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2563/64 เฉลี่ยความหวาน 10 ซีซีเอส จะสูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในระดับ 750 บาทต่อตัน
“ชาวไร่อ้อย แม้ราคาที่อาจจะฟื้นตัวดีขึ้นจากฤดูหีบก่อนหน้านี้แต่ในแง่ของผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 63/64 ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้ยังมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอีกจากปี 2562/63 ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ในระดับ 74.89 ล้านตัน เนื่องจากฤดูก่อนหน้าประสบปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ตออ้อยไม่ดีต่อเนื่องและปีนี้ฝนก็มาล่ากว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังพบต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นทั้งค่าแรงตัดอ้อยทั้งจากคนและเครื่องจักร ค่าปุ๋ย เป็นต้นทำให้ต้นทุนของชาวไร่อ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละประมาณ 1,000 บาทเป็นอย่างน้อย”
สำหรับฤดูหีบปี 63/64 นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยังมุ่งเน้นให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเข้าหีบเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อเนื่อง โดยฤดูหีบปี 62/63 สามารถตัดอ้อยสดคิดเป็น 50.34% ส่วนอ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 49.65% ของอ้อยที่หีบทั้งหมด 74.89 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ฤดูหีบใหม่ตามแผนต้องการให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวันและหมดภายในปี 2564/65
“ยอมรับว่าก็ไม่ง่ายนักแต่ทุกฝ่ายก็จะพยายามทำ โดยก่อนเปิดหีบคงจะต้องหารือกันอีกครั้งเพราะเบื้องต้นชาวไร่เองต้องการให้รัฐสนับสนุนราคาอ้อยทุกตันอ้อยและให้คนตัดอ้อยสดสูงกว่าเช่นฤดูหีบที่ผ่านมา แต่ฝ่ายราชการระบุว่าจะช่วยเหลือเฉพาะอ้อยสดเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ชาวไร่ที่เหลือไม่มีศักยภาพจะไปซื้อรถตัดอ้อยแล้วเพราะผลผลิตอ้อยที่ลดลงจากระดับ 130 กว่าล้านตันเหลือแค่ 74-75 ล้านตันไม่คุ้ม ซึ่งขณะนี้ชาวไร่มีรถตัดอ้อยราว 2,000 คัน ที่เหลืออีกราว 1,000 คันเป็นของโรงงาน ดังนั้นภาระรถตัดอ้อยจากนี้ไปคงอยู่ที่โรงงาน” นายนราธิปกล่าว