สภาวะปัจจุบันจากปัจจัยสำคัญต่อการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี คือ การมีกำลังคน แรงงานที่มีคุณภาพและทักษะเพียงพอ ต่อกับความต้องการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงเป็นภารกิจสำคัญ ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เร่งดำเนินการ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนคุณภาพรองรับการลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นแรงดึงดูดให้กับนักลงทุนทั้งไทย และทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลัง การลงพื้นที่เยี่ยมชม โครงการ AMATA Smart City และการพัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซี โดยย้ำว่า ภารกิจหลักของกระทรวงแรงงาน ต้องส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาทักษะฝีมือ คุ้มครองสิทธิประโยชน์และสวัสดิการแรงงาน ซึ่งถือเป็นภารกิจยกระดับรายได้ และพัฒนาให้ประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยจัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นหน่วยงานกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปร่วม บูรณาการความร่วมมือกับอีอีซี และได้เริ่มต้นจัดทำข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการในพื้นที่ เกิดการบรรจุทำงานแล้วประมาณ 30,000 อัตรา
จากการประเมินความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พบว่ามีความต้องการแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่ อีอีซี จำนวนมาก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่แรงงาน ต้องได้รับการเพิ่มพูนทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ได้นำฐานข้อมูลแรงงานแห่งชาติ มาใช้เชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้สามารถในการติดตาม ความเคลื่อนไหวของความต้องการแรงงาน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบช่วงปี 2563 นี้ ในประเด็นการคุ้มครองดูแลสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ตามกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้แรงงานได้รับการดูแล เข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รองรับตลาดในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างโอกาสให้เยาวชน แรงงานไทยได้มีงานทำ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน ที่ส่งเสริมการมีงานทำที่มีคุณค่า และยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
สำหรับภาพรวมความต้องการแรงงาน 10 กลุ่ม แบ่งออกเป็น (7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย + 3 โครงสร้างพื้นฐาน) ในพื้นที่อีอีซี นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เปิดเผยถึงข้อมูลรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 1. สถานประกอบการ มีทั้งสิ้น 38,127 แห่ง แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 23,563 แห่ง จังหวัดระยอง 9,288 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา 5,276 แห่ง 2. ความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ภายใน 5 ปี (2562-2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 475,667 คน โดยเป็นระดับอาชีวศึกษา 253,115 คน ปริญญาตรี 213,942 คน และปริญญาโท – เอก 8,610 คน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 53,739 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 58,228 คน ท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้ดี 16,920 คน หุ่นยนต์ 37,526 คน การบิน 32,837 คน ดิจิทัล 116,222 คน การแพทย์ครบวงจร 11,410 คน ระบบราง (รถไฟความเร็วสูง)24,246 คน พาณิชย์นาวี 14,630 คน และโลจิสติกส์ 109,910คน